วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550
Rice Crispy
วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ส้มตำ
วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550
French toast
วิธีทำ เริ่มจาก เอาขนมปังสไลด์เป็นแผ่นๆ (บังเอิญว่าไม่มีขนมปังฝรั่งเศสอะจ้า) มาชุบกับ ไข่ไก่สองฟองที่ตีผสมกับนมเรียบร้อยแล้ว ชุบขนมปังให้ชุ่มทั้งสองด้าน
นำกะทะตั้งไฟ ใช้ความร้อนระดับปานกลาง เอาเนยทาลงบนกะทะให้ทั่ว พอเริ่มร้อนดีแล้ว เอาขนมปังลงไปทอด ค่อยๆดูจนกว่าจะเหลือง และเริ่มเป็นสีน้ำตาล คอยพลิกกลับไปมา เพื่อให้เหลืองทั้งสองด้าน
เสิร์ฟกับ น้ำผึ้ง แยมผลไม้ เนย กล้วย หรือกินกับ แฮม เบคอน ก็อร่อยเหมือนกันค่ะ (เลือกเอาตามที่ชอบเลยค่ะ)
วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ปลาดุกฟูหมูยอ
วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2550
วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ข้าวกระเพราไข่ดาว Lobo
อาหารประจำชาติครับ
เผอิญว่าแถวนี้มันบ้านนอกหาใบกระเพราสดไม่ได้ (เจอใกล้เคียงสุดคือโหระพาในร้านจีน ส่วนร้านไทยก็มีแต่มันเดินไกลมากเลยถอย) เลยลองใช้กระเพรา Lobo ดูว่าเป็นไง เกิดมาก็ไม่เคยทำสูตรนี้
ขั้นตอนก็ไม่มีอะไรมาก
- ถ้าอยากกินไข่ดาวด้วยก็ทอดไข่ดาวให้เรียบร้อยก่อน น้ำมันที่เหลือจะได้เอาไปผัดต่อได้
- ตั้งไฟ กระเทียมนำ รอให้ร้อน
- (สำคัญมาก) เปิดหน้าต่าง เปิดพัดลมดูดอากาศ max ไล่รูมเมท/แฟลตเมตออกไปจากครัว
- ฉีกซอง Lobo แล้วเทลงไปในกระทะ รวบรวมสติเพราะจังหวะแรกมันจะ "ฟู่" มาก พอหายตกใจก็เอาช้อนกวาดๆ ที่เหลือลงให้หมด
- เอาหมูสับตามลงไป ใส่น้ำปลากับพริกเพิ่มเล็กน้อยตามชอบ ผมเติมน้ำตาลลงไปนิดนึงพอให้รสกลมกล่อม
วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ยำเคบับ
ซื้อเคบับมาแต่อันมันควายมาก กินไม่หมดเลยแบ่งเนื้อครึ่งนึงเก็บไว้กินวันหลัง ว่าแล้วก็ลองยำดูซะเลยว่าเป็นยังไงบ้าง
ส่วนประกอบ
- เนื้อเคบับ
- ไส้กรอก
- แฮม
- ผักสลัดแพ็กสำเร็จ (Sainsbury's มันลดราคา) มีหลายอย่าง
- หอมใหญ่ 1/2 หัว
- มะนาว 1 ลูก (อันนี้ใช้ lime)
- พริกขี้หนูตามชอบ (ที่ทำใช้ 4 เม็ด)
- น้ำตาล น้ำปลา
ส่วนของเนื้อก็ทำให้สุกก่อน อย่างในกรณีนี้ทอดไส้กรอกเก็บไว้หลายวันไม่ได้กินซะทีเลยเอามายำด้วย ส่วนแฮมก็สุกมาตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ผมใช้วิธีเอาเนื้อทั้งสามอย่างเข้าเตาอบ (เตาใหญ่ไม่ใช่ไมโครเวฟ) ตั้งไฟแรงหน่อยเพราะอยากให้มันเกรียมๆ พอได้ที่แล้วก็หั่นให้พอดีคำ กะว่าให้ตอนกินไม่ลำบาก
ส่วนผักก็ไม่มีอะไรมาก ผักสลัดมันสำเร็จอยู่แล้วแค่ล้างก็พอ หั่นหอมใหญ่กับพริก บีบมะนาว เติมน้ำตาลน้ำปลาแล้วคลุกๆ ชิมดูว่าโอเคมั้ย อันนี้ใช้ lime มันไม่ค่อยเปรี้ยว (ขนาดผมไม่ชอบเปรี้ยว) แต่ก็ไม่มีทางเลือกไม่รู้จะทำยังไง หน้าตาก็ออกมาแบบที่เห็น
สรุป
เนื้อเคบับอันนี้ที่ใช้เป็นเนื้อแกะ เวลากินเลยสากๆ เล็กน้อยไม่ค่อยเข้ากันเท่าไร เดี๋ยวคราวหน้าลองสั่งเคบับไก่แล้วจะมารายงานผล
วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550
มะระผัดไข่
วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ซี่โครงหมูอบไดเอ็ทโค้ก
ส่วนประกอบ: ซี่โครงหมู 1 กิโลกรัม, ไดเอ็ทโค้ก 1 ขวด (กรณีที่ไม่กลัวอ้วนก็ใส่โค้กหรือเป๊ปซี่ธรรมดาก็ได้ค่ะ), กระเทียมหั่นเป็นชิ้นบางๆ 4-5 กลีบ, พริกไทยดำ 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำมันหอย 2 ช้อนโต๊ะ, ผงปรุงรส 1 ช้อนชา, เกลือป่น 1 ช้อนชา
วิธีทำ:
1. ล้างซี่โครงหมูให้สะอาดแล้วทิ้งไว้พอสะเด็ดน้ำ
2. นำซี่โครงหมูใส่หม้อแล้วเทน้ำไดเอ็ทโค้กลงไป, ใส่กระเทียมและโรยเกลือให้ทั่ว ปิดฝาอบไว้สักครู่ โดยใช้ความร้อนปานกลางจนน้ำโค้กเริ่มขลุกขลิก (ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีค่ะ)
3. หลังจากซี่โครงหมูเริ่มได้ที่แล้วให้ใส่น้ำมันหอย พริกไทยดำและผงปรุงรส คนให้เข้ากันแล้วอบต่อไปอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง รอจนซี่โครงหมูนุ่มได้ที่ จากนั้นก็พร้อมเสิร์ฟได้ทันทีค่ะ
วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550
แกงส้ม
อยากกินแกงส้ม มีแพ็กเครื่องแกงสำเร็จมาจากเมืองไทย 1 ถุง คุ้นๆ ว่ามีคนในนี้เขียนไปแล้ว (ไปค้นดู อยู่นี่) เลยไปทำตามแล้วเขียนมาส่งอาจารย์ละกัน (ถึงจะไม่รู้จักอาจารย์ก็เถอะ ขอบคุณนะครับ)
วัตถุดิบ
- เครื่องแกงส้มสำเร็จ 1/2 แพ็กเพราะหม้อมันเล็ก
- ผักตามชอบ เผอิญถั่วฝักยาวมันแพงมาก แพ็กนิดเดียวปอนด์นึง (อยู่เมืองไทย 5 บาทได้เยอะกว่า 5 เท่า) เลยใช้บร็อคโคลี+ดอกกะหล่ำ แล้วมันมีเห็ดอะไรก็ไม่รู้คล้ายๆ เห็ดฟางแต่ใหญ่กว่า เลยซื้อมาใส่ผสมด้วย
- กุ้ง เจอกุ้งลดราคาซื้อ 2 จ่าย 1 เลยคว้ามา
- มะขามเปียก ตอนแรกไม่มี โชคดีพี่คนไทยที่หอมีให้ (เลยต้องเอาแกงส้มไปเซ่นกลับ)
- ไข่เจียว
วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ถั่วผัดพริกขิง
วิธีทำ นำน้ำพริกแกงลงไปผัดกับน้ำมันจนหอม ใช้ไฟปานกลาง จากนั้นใส่เนื้อหมูที่หั่นแล้วลงไปผัด จนเกือบสุกก็ใส่ถั่วฝักยาวที่หั่น ผัดให้เข้ากัน ชิมดู เติมรสตามใจชอบ อาจใส่น้ำตาลได้นิดหน่อย พอสุกดีแล้ว ใส่ใบมะกรูดหั่นฝอย คนให้เข้ากัน ปิดไฟ
** กินกับไข่เจียว หรือ ไข่พะโล้ จะอร่อยมากมาย :D
วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2550
พาสต้าผัดผงกะหรี่
ส่วนประกอบได้แก่ เส้นพาสต้าเกลียว (torti pasta), เนื้อหมู, ไข่ไก่, กระเทียมสับ, พริกชี้ฟ้าแดง, หอมใหญ่, บล็อกโคลี, เนย, ผงกะหรี่, ซอสน้ำมันหอย, น้ำตาล, เกลือ, พริกป่น
วิธีทำ
1. ต้มเส้นพาสต้าในน้ำเดือดที่ใส่เกลือเล็กน้อย ใช้เวลาประมาณ 8 นาที, เทน้ำออกแล้วผ่านเส้นด้วยน้ำเย็น, พักเส้นเอาไว้ให้สะเด็ดน้ำ
2. ตั้งกระทะด้วยไฟกลางจนร้อน ใส่เนยลงไปผัดกับกระเทียมและพริกชี้ฟ้าแดง
3. ใส่เนื้อหมูผัดจนสุก
4. ตอกไข่ลงไป พอไข่เริ่มสุกก็ผัดให้ทั่วๆ แล้วใส่หอมใหญ่ซอยและบล็อกโคลี ผัดต่อจนผักเริ่มสุก
5. ใส่ผงกะหรี่ และซอสน้ำมันหอย อาจเติมน้ำเปล่าเล็กน้อย แล้วปรุงรสด้วยน้ำตาล, เกลือ และพริกป่น (ถ้าชอบเผ็ด)
6. เอาเส้นพาสต้าที่ต้มสุกแล้วลงไปผัดต่อพอให้น้ำซึมเข้าเส้นก็ปิดไฟเตรียมเสิร์ฟได้เลย
วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550
สปาเกตตี้ สเต็กหมู
ข้าวผัดกะเพราคลุก
ส่วนประกอบก็มี หมูหั่นเป็นชิ้นพอคำ, ข้าวสวย, น้ำมัน, กระเทียม, หอมใหญ่, ใบกะเพรา, น้ำพริกผัดกะเพรา, เกลือ, น้ำตาล, น้ำเปล่า
วิธีทำ
1. ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ด้วยไฟกลางจนร้อน ใส่กระเทียมที่สับพอละเอียดลงไปผัด ตามด้วยน้ำพริกผัดกะเพรา ผัดจนมีกลิ่นหอมประมาณว่าจามได้อะค่ะ (อาจจะต้องใส่น้ำพริกเยอะหน่อยเอาให้รสเข้มเข้าไว้เพราะต้องเอาข้าวลงไปผัดอีก)
2. ใส่เนื้อหมู ผัดจนสุก
3. ใส่หอมใหญ่ที่หั่นเป็นแว่นๆ ปรุงรสด้วยเกลือ, น้ำตาล (อย่าลืมว่ารสต้องจัดนะคะ)
4. เอาข้าวสวยเทลงกระทะ(อาจใส่น้ำลงไปเล็กน้อย) คลุกให้ทั่วกัน
4. แล้วปิดท้ายด้วยใบกะเพราค่ะ ผัดต่อจนข้าวแห้ง เสร็จแล้วปิดไฟ ตักใส่จานเตรียมหม่ำได้เลยจ้า
วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550
น้ำพริกกุ้งสด
พอดีมีกุ้งแม่น้ำที่มีไข่เต็มท้องเหลือในตู้เย็นค่ะไม่รู้จะทำอะไรดีแม่
คุณหนุ่มเกิดอยากกินน้ำพริกก็เลยทำซะเลยง่ายๆค่ะ
ลวกกุ้งให้สุกแกะเปลือกออกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆใช้ทั้งไข่และมันที่หัวกุ้งด้วยนะคะจะได้อร่อยๆ
ตำกุ้งให้ละเอียด (แบ่งไว้โรยหน้าส่วนหนึ่ง) ใส่พริก กระเทียมตามชอบ
แล้วใส่กระปิประมาณปลายช้อนแค่พอให้มีกลิ่นนิดๆ
ตามด้วยน้ำตาลปี๊ป มะนาว น้ำปลา ปลุงรสตามชอบให้เปรี้ยวนำค่ะ ตักใส่ถ้วยโรยด้วนเนื้อกุ้ง
ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆลงไป กินกับผัก ข้าวสวยร้อนๆอร่อยมากเลยค่ะ
วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2550
เฉียนลี้สื่อรื่อ (千里豬肉)
บทนำ
อาหารจานนี้เป็นอาหารจีนโบราณชื่อภาษาจีน เรียกว่า เฉียนลี้สื่อรื่อ (千里豬肉:Qian Li Zhurou) เป็นอาหารที่ใช้หลักยินและหยางในการปรับสมดุลย์ของอาหารโดยเนื้อสัตว์จะให้พลังของธาตุยิน ในขณะที่ผัก ซึ่งรับแสงอาทิตย์หรือว่าพลังของสวรรค์ ก็ให้พลังของธาตุหยาง แล้วใช้การปรุงที่เหมาะสมในแต่ละขั้นตอน (เช่น ใช้พลังของธาตุยินในน้ำและอากาศ และ ธาตุหยางในดินและไฟ) เพื่อกักเอาพลังของธาตุยินและหยางและปลดปล่อยออกมาเมื่อถึงเวลาอันสมควร หลักการง่าย ๆ ก็คือ ปรุงยิน(หมู)ด้วยหยาง(ดินและไฟ) และปรุงหยาง(ผัก)ด้วยยิน(น้ำและอากาศ)
ต้ม
ขั้นตอนการทำก็เริ่มจากการทำหมูแฮม(หรือว่าหมูสามชั้นทอดกรอบซึ่งเป็นหนึ่งใน 18 สุดยอดเครื่องยาจีน[1]) ก็เริ่มจากเอาหมูสามชั้นมาต้มให้สุก ควรใช้เนื้อหมูตรงต้นคอ เพราะจะมีสัดส่วนของเนื้อและมันที่พอดี ถ้าใช้เนื้อต้นขา จะมีมันมากเกินไป การต้มนั้น ให้ต้มแบบปิดฝาให้ไฟอ่อน ๆ ถ้าต้มแรงไปธาตุยินจะกระเจิงออกมาหมด พอหมูสามชั้นสุกดี ก็เอาขึ้นมาพักให้เย็น ในขณะเดียวกันก็เอาน้ำซุปที่ได้ ไปต้มกับเครื่องยาจีนและกระดูกหมูโดยใช้ไฟอ่อนมาก ๆ เพื่อค่อย ๆ รีดเอาคุณค่าของเครื่องยาจีนออกมา กระดูกหมูที่ใช้ ควรจะใช้กระดูกสันหลัง เพราะเป็นส่วนที่มีไขกระดูกค่อนข้างมาก จะดีกว่ากระดูกส่วนอื่น ที่มักจะเป็นกระดูกแห้ง ๆ ถ้าไม่มีกระดูกสันหลัง ก็ใช้กระดูกบริเวณซี่โครงก็ได้ ส่วนเครื่องยาจีนนั้น ถ้าสามารถหาเครื่องยาจีนธาตุอ่อน เก๋ากี้ ตังกุย โสมคน เส็กตี่ ปาเก็ก หลินจือ ถั่งเฉ้า แป๊ะก๊วย ตังเซียม มาได้ครบชุดก็จะดี แต่ถ้ามีไม่ครบ ก็เอาเท่าที่มี แต่ห้ามใส่เครื่องยาจีนที่มีธาตุแรง เช่น เห็ดหอม หูฉลาม หรือว่า เหล้าเช่าชิง เพราะว่าจะเป็นธาตุที่แรง จะตีกันกับหมูสามชั้นทอดที่เป็นธาตุที่แรงเหมือนกัน หมูสามชั้นที่ทอดแล้ว ต้องทิ้งไว้ให้เย็น อาจจะต้องทิ้งข้ามคืน ในขณะเดียวกัน ก็เคี่ยวน้ำซุปไปเรื่อย ๆ เกือบลืมไป ในการเคี่ยวน้ำซุปนั้น ควรจะใช้เตาถ่านเพราะจะให้แรงไฟที่นุ่มนวลสม่ำเสมอกว่า (สังเกตว่าทำอาหารกับเตาถ่าน จะไม่ค่อยใหม้ก้น เพราะถ้าใช้เตาแกสหรือว่าเตาไฟฟ้า จะมีส่วนที่ร้อนมาก ๆ คือส่วนที่สัมผัสกับเปลวไฟ กับส่วนที่ไม่ค่อยร้อน) และควรใช้หม้อดิน ด้วยเหตุผลเดียวกัน และยังเป็นการควบคุมธาตุหยางในหมูอีกด้วย
ทอด
พอหมูสามชั้นแห้งดีแล้ว ก็เอากระทะก้นลึกตั้งไฟแรง ๆ สิ่งสำคัญในการทำอาหารจีนประเภททอดหรือผัดคือต้องใช้ไฟแรง ถือเป็นเคล็ดลับสำคัญในการทำอาหารจีน พอกระทะร้อน ก็เอาน้ำมันเทลงไป แล้วพลิกกระทะเร็วๆ สักห้าหกที แล้วเทน้ำมันทิ้ง เพื่อล้างคราบสกปรกที่ติดในกะทะ เสร็จแล้วจึงเทน้ำมันใหม่ลงไป พอน้ำมันเดือดจัด ก็ใช้ตะเกียบคีบหมูสามชั้นไว้เหนือกระทะ แล้วใช้ตะหลิวกลมตักน้ำมันขึ้นมาราดบนหมูเพื่อปรับอุณหภูมิสักสองสามที แล้วจึงเอาหมูลงไปทอดกับน้ำมัน ถ้าเอาหมูลงทอดเลยโดยไม่ปรับอุณหภูมิก่อน ไขมันในหมูจะแตกตัวแรงเกินไป ทำให้เกิดกลิ่นหืนภายหลังได้ เมื่อเอาหมูสามชั้นลงไปทอดแล้ว ก็คอยพลิกหมูไปมาเร็ว ๆ คอยสังเกตุฟองอากาศรอบ ๆ ชิ้นหมู ถ้าเริ่มมีน้อย ก็แสดงว่าหมูสุกใช้ได้แล้ว ก็เอามาขึ้นพักไว้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การทอดหมู ก็คือการปรุงยิน(หมู)ด้วยหยาง(ไฟ)นั่นเอง
นึ่ง
เมื่อทำหมูเสร็จแล้วก็เอามีดมาหั่นหมูให้เป็นชิ้นพอคำ การหั่นก็หั่นตามขวาง ให้แต่ละชิ้นมีทั้งหนัง มัน และเนื้อ เสร็จแล้วก็มาทำผักต่อ เอาผักกาดขาว(ใช้แบบที่เป็นสีขาวหรือว่าสีเหลือง ไม่ใช่แบบเขียว ๆ ของจีน จริง ๆ ใช้ผักอื่นก็ได้ ที่เป็นสีขาว เช่นหัวไชเท้า )มาล้างให้สะอาด แล้วหั่นให้เป็นชิ้นใหญ่ ๆ การนึ่งผักนั้น ไม่ควรใช้ผักชิ้นเล็ก เพราะจะทำให้ผักเละไม่น่ากินและไม่ต้องกลัวว่าผักจะชิ้นใหญ่จนกินลำบากเพราะพอนึ่งเสร็จ ผักจะอ่อนตัวและคีบด้วยตะเกียบได้ง่ายเอง แต่การผัดผักนั้นจะต่างออกไป ควรจะหั่นผักให้เป็นชิ้นเล็กพอคำ เพราะว่าเมื่อผัดเสร็จ ผักจะยังคงรูปอยู่ ถ้าหั่นชิ้นใหญ่เกินไป จะกินลำบาก เมื่อหั่นผักเสร็จแล้ว ก็เอาผักมาเรียงในชามกระเบื้องสลับกับหมู การเรียงนั้น ให้เอาผักไว้ข้างนอกสุด ตามด้วยชั้นของหมู แล้วก็สลับด้วยชั้นของผัก ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเกือบเต็มชาม เสร็จแล้ว ก็เอาน้ำซุบเทลงไปตรงกลาง ให้พอท่วมหมูและผัก และให้เครื่องยาจีนที่เหลือรวมกันอยู่ตรงกลางชาม เสร็จแล้วก็เอาหม้อนึ่งขึ้นตั้งไฟ พอน้ำเดือด ก็เอาชามผักและหมูขึนไปนึ่ง การนึ่งนั้น เป็นการใช้ยิน(น้ำและอากาศ)เข้าไปปลดปล่อยพลังของธาตุหยางในผัก แล้วให้ธาตุหยางในผัก เข้าไปผสมกับธาตุยินในหมู โดยใช้อากาศและไอน้ำ ซึ่งเป็นธาตุหยาง และ ชามกระเบื้อง(ดิน)ซึ่งเป็นธาตุยิน ทำหน้าที่ควบคุมการควบรวมกัน สิ่งสำคัญคือเครื่องยาจีนที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งจะทำหน้าที่หมุนเวียนธาตุยินและหยาง(ภาษาจีนเรียก 自转) เหมือนกับสัญลักษณ์ยินหยางที่ต้องหมุนวนรอบ ๆ กัน นึ่งแบบปิดฝาใช้ไฟอ่อน ไปเรื่อย ๆ จนผักและหนังหมูเริ่มใส ก็ยกลง
เคี่ยว
พอยกหม้อนึ่งลง ก็เอากระทะมาตั้งไฟแรง ๆ เช่นกัน เทน้ำมันลงไปนิดหน่อยแล้วพลิกกระทะเร็ว ๆ แล้วจึงเทน้ำมันทิ้งเพื่อทำความสะอาดกระทะ เสร็จแล้วก็เร่งไฟจนสุด แล้วจึงเทเอาน้ำซุบที่อยู่ในชามกระเบื้องลงไปในกระทะ ใส่ซี่อิ้วขาวลงไปนิดหน่อยเพื่อลดความเลี่ยน แล้วก็ทำการเคี่ยวน้ำซุบไปเรื่อย ๆ จนน้ำซุบข้นเหนียว ก็เทราดลงไปบนผักและหมูที่อยู่ในชาม ก็เป็นการเสร็จสิ้นขบวนการ
ส่งท้าย
ชาวจีนโบราณจะใช้อาหารจานนี้เพื่อขัดเกลาลมปราณและฟอกกระดูกเส้นเอ็น ฯลฯ รวมถึงแก้ไขสมดุลย์ของธาตุด้วย เช่นผู้ฝึกกำลังภายในที่เกิดธาตุไฟเข้าแทรก ก็จะกินอาหารชามนี้ เพื่อปรับสมดุลย์ยิน(ลมและน้ำ) ให้สมดุลย์กับหยาง(ดินและไฟ) ถ้าใช้ควบคู่กับการฝึกสมาธิ (เพื่อประสานธาตุในตัวเข้ากับซีตามหลักฮวงจุ้ย) ก็จะฟื้นตัวได้เร็ว เรียกว่าเป็นการดึงเอาพลังของดินฟ้า(ยินหยาง) และพลังของชีวิต(ซี)มาช่วยปรับสมดุลย์ในตัวนั่นเอง
[1] 18 สุดยอดเครื่องยาจีนประกอบไปด้วย เก๋ากี้ โสม ตังกุย ตังเซียม ผ่อซัว ตังกุย พุทราจีนแดง เห็ดหอม กังป๋วย หอยสังข์ขาว หอยสังข์แดง เหล้าเช่าชิง หมูแฮม ไก่ดำ ปลิงทะเล กระเพาะปลาสด หูฉลาม เป๋าฮื้อ
วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550
คั่วกลิ้ง
วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ปูผัดพริกไทยดำ
วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ปูผัดผงกระหรี่
เครื่องปรุง
- ปูทะเลขนาด 6 ขีด
- ไข่ไก่ 2 ฟอง
- นมข้นจืด 1 ถ้วยตวง
- น้ำพริกเผา 2 ช้อนโต๊ะ
- คึ่นช่าย 2 ต้น
- หอมหัวใหญ่ ครึ่งหัว
- น้ำมันหอย 2 ช้อนโต๊ะ
- ซอสปรุงรส 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
- ผงกระหรี่ 2 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียม 3-4 กลีบ
วิธีทำ
1. นึ่งปูทะเลทั้งตัวประมาณ 10 นาทีหรือจนสุกแล้วตัดเป็นชิ้นๆ ทุบๆให้แกะง่ายๆเวลากิน
2. ระหว่างรอปูก็เตรียมเครื่อง เอา ไข่ไก่ น้ำพริกเผา นมข้น ผงกระหรี่ ผสมให้เข้ากันแล้วพักไว้
3. ตั้งกระทะจนร้อนใส่น้ำมันลงไป ตามด้วยกระเทียม
4. กระเทียมเริ่มเหลืองแล้วหอมหัวใหญ่ ผัดจนใส ตามด้วยปูแล้วปรุงรสด้วย น้ำมันหอย ซอสปรุงรส น้ำตาล
5. ผัดปูกับเครื่องปรุงจนเข้ากันแล้วให้ใส่ ส่วนผสมในข้อสองลงไปผัดพอให้มันข้นขึ้นอย่าให้สุกเกินไปไม่งั้นไข่จะแข็งไม่อร่อย
6. โรยด้วยขึ้นช่าย หรือใครมีต้นหอมก็ใส่เพิ่มลงไปกินกับข้าวร้อนๆ อร่อยมากเลยค่ะ หรือใครจะเปลี่ยนจากปูเป็นอย่างอื่นก็ได้ค่ะตามชอบ
หมายเหตุ: เนื่องจากภาพประกอบเดิมหายไปพร้อมกับบลอคเก่า จึงนำภาพประกอบมาจาก https://www.flickr.com/photos/newdavich/5470381797/ ภายใต้สัญญาอนุญาต CC-by-nc 2.0
วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550
แกงจืดเต้าหู้สาหร่าย
ข้าวผัดอเมริกัน
วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550
หมูชุบไข่ทอด
อาหารสิ้นคิดอีกอย่างหนึ่ง วิธีการทำก็ไม่ยาก เริ่มจากเอาหมูสับมาผสมกับกระเทียมสับละเอียด น้ำปลา พริกไทย รากผักชี(ถ้ามี) นวดให้เข้ากันจนหมูสับเหนียว พอหมูสับเหนียวติดมือ ก็เอากระทะมาตั้ง น้ำมันเยอะหน่อย ไฟปานกลาง เสร็จแล้วก็เอาไข่มาตี พอน้ำมันร้อนดี ก็เอาหมูมาปั้นเป็นก้อน ๆ แล้วก็บีบให้แบน ๆ ไม่เช่นนั้น หมูตรงกลางจะไม่สุก พอปั้นเสร็จ ก็เอามาชุบไข่ทั้งสองด้าน แล้วก็เอาลงทอด คอยพลิกไปมา ไม่งั้นจะใหม้ พอไข่สุกเป็นสีน้ำตาลเข้ม ก็เอาขึ้นมาซับน้ำมัน กินกับข้าวร้อน ๆ และซอสศรีราชาก็อร่อยอิ่มท้องได้แล้ว
น้ำพริกอ่อง
หลังจากที่ไปกินอาหารเหนือมาเมื่อสองวันก่อนที่ร้าน "อร่อยไทย" ในชิคาโก แล้วก็มีพริกแกงแดงอยู่ที่บ้าน ก็เลยอยากทำน้ำพริกอ่องขึ้นมา ส่วนผสมก็ง่ายๆค่ะ มีหมูสับ, พริกแกงแดง, มะเขือเทศ, เห็ด, กระเทียม, หอมใหญ่, น้ำมันพืช, เกลือ และน้ำตาล วิธีทำก็คือ
1. ใส่น้ำมันลงกระทะผัดกับกระเทียมและพริกแกงแดงจนหอม
2. ใส่หมูสับลงไปผัด พอหมูสุกก็ใส่มะเขือเทศที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผัดต่อให้น้ำมะเขือเทศออก
3. ใส่หอมใหญ่และเห็ดลงไปผัดต่อ ปรุงรสด้วยเกลือ และน้ำตาล
เคยกินข้าวผัดน้ำพริกปลาทู, ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ,... ก็เลยคิดว่าถ้าจะเอาน้ำพริกอ่องไปผัดกับข้าวด้วยก็คงจะเข้าท่าเหมือนกันค่ะ